วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ขยายท่าอากาศยานตาก รับโบอิ้ง-บูมท่องเที่ยว การค้าชายแดน รับ AEC.ปลายปี 58





แม้จังหวัดตากจะเป็นจังหวัดขนาดเล็กใน 17 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง มีแม่น้ำปิง วัง เมย และแม่น้ำแม่กลองเป็นเส้นเลือดหลักสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีพด้านเกษตรกรรม รายได้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสาขาการบริการ การเกษตร และมียุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด คืออนุรักษ์ส่งเสริมวัฒนธรรมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อมโยงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ ในการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว จนได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ประตูสู่ภาคเหนือตอนล่าง (Gateway) สี่แยกอาเชียน

กอปรปัจจุบันการพัฒนาในด้านต่างๆ ของจังหวัดตาก กำลังขยายตัวทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะในภาครัฐที่เห็นชัดเจนมากที่สุด คือการขยายสนามบินของท่าอากาศยานตาก เพื่อรองรับเครื่องบินใหญ่โบอิ้ง 747 ที่จะสามารถแลนดิ้ง (Landing) ได้ในสนามบินที่ได้รับการขยายรันเวย์แล้ว รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว การค้าชายแดน

นางณัฐพร พรมโชติ รักษาการนายท่าอากาศยานตาก กล่าวว่า  ท่าอากาศยานตาก สังกัดกรมการบินพลเรือน เปิดให้บริการด้านการบิน ตั้งแต่ปี 2495 เป็นต้นมา ปัจจุบันทางวิ่ง (Runway) มีขนาดเพียง 1,500x30 เมตร ซึ่งไม่สามารถรองรับเครื่องบินขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และเครื่องบินเจ็ทได้ ส่งผลกระทบให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน นักธุรกิจ และข้าราชการที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปใช้บริการด้านการขนส่งทางอากาศที่จังหวัดใกล้เคียง เช่น จ.สุโขทัย  จ.พิษณุโลก และ อำเภอแม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีเครื่องบินขนาดกลางและขนาดใหญ่ให้บริการ

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อธุรกิจการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน รวมทั้งการขนส่งสินค้า ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน จำพวกอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีความเน่าเสียง่าย ทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวม (GPP) ของจังหวัดตาก ตลอดจนผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ไม่ขยายตัวเท่าที่ควร

น.พ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ ประธานชมรมการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดตาก   เผยว่า เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเกิดสภาพคล่องของจังหวัดตาก จึงมีเหตุผลและความจำเป็นอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง ที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน คือต่อเติมความยาวทางวิ่งเพิ่มเติม จากเดิม 1,500x30 เมตร เป็น 1,800x45 เมตร พร้อมไหล่ทางข้างละ 7.50 เมตร และปรับปรุงโครงสร้างเดิม เพื่อให้มีความปลอดภัยในการขึ้น-ลงของอากาศยานโดยทั่วไป จากการปรับปรุงครั้งนี้จะสามารถรองรับเครื่องบินขนาดโบอิ้ง747 และในอนาคตหากขยายและเพิ่มทางวิ่งมากขึ้น ก็ยังสามารถขยายเส้นทางวิ่งเครื่องบิน โบอิ้ง 878 เนื่องจากที่ดินรอบข้างสนามบินในพื้นที่ มีราคาถูกกว่าสนามบินอื่น ไม่น้อยกว่า 10-20 เท่า กรมการบินพลเรือนมีหน้าที่ให้บริการด้านสนามบิน จึงต้องจัดเตรียมสถานที่ให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น

นายสบเกษม แหงมงาม รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก และผู้ตรวจราชการภาคประชาชน ด้านเศรษฐกิจ  สำนักนายกรัฐมนตรี เขต 17 กล่าวว่า โอกาสหรือศักยภาพการเติบโตของเมืองตาก มีค่อนข้างสูง หลังจากรัฐบาลผลักดันให้ 5 อำเภอชายแดน เป็นเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และให้ 4 อำเภอโซนตะวันออก เป็นจุดกระจายสินค้า ศูนย์กลางโลจิสติกส์ 4 แยกอาเชียน (จุดตัดเส้นทาง A 1 และ A 2 ) ศูนย์กลางสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และสังคม  ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนได้เข้ามาขยายตัวด้านสิ่งปลูกสร้าง และการคมนาคมขนส่ง ในเส้นทางที่ติดถนนเอเชีย 1 และเอเชีย 2 ตลอดเส้นทางแล้ว

สำหรับงบประมาณและการบริหารจัดการ เป็นหน้าที่ของกรมการบินพลเรือน จังหวัดตาก และองค์กรปกครองท้องถิ่น  แบ่งออกเป็นงบประมาณแต่ละปี หรืองบผูกพัน คืองานจัดซื้อที่ดิน และชดเชยสิ่งปลูกสร้าง งานต่อเติมความยาวทางวิ่ง ค่าควบคุมงานก่อสร้างสนาม จัดหาและติดตั้งระบบไฟฟ้าสนามบิน RTIL 2 วงจร งานจ้างติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงระบบไฟฟ้าสนามบิน ทางวิ่ง ทางขับ PAPI ลานจอด เครื่อง X-ray  และปรับปรุงอาคารสถานที่ บ้านพัก รวมทั้งที่จอดยานพาหนะ และที่สำคัญภายในปี 2557 กรมทางหลวง จะได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนแนวถนนทางหลวงหมายเลข AH 2  ตอนตาก-สุโขทัย เป็น 4 ช่องจราจร เพื่อเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข AH 1 ที่ได้ดำเนินการเป็นจุดตัดที่หน้าศาลากลางจังหวัดตาก

น.พ.ชลธิศ  กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงทดรองการบิน ไม่ต้องดับเครื่องยนต์บินตรงจากกรุงเทพ ฯ มาลงที่ ท่าอากาศยานตาก อ.เมืองตาก  และบินตรงไปที่สนามบินแม่สอด เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ทดรองบิน 3 เดือน วันละ 1 เที่ยว  หากมีการขยับเส้นทางวิ่งและขยายรันเวย์ จนเครื่องบิน 747 และ 878 ขนาดใหญ่สามารถวิ่งขึ้นลงได้สะดวก สนามบินตาก จะเป็นฮับการบินของภาคเหนือตอนล่าง ที่ผู้โดยสารอย่างจังหวัดตาก สุโขทัย กำแพงเพชร ลำปาง และอำเภอใกล้เคียงอย่างอำเภอแม่สอด สามเงา บ้านตาก วังเจ้า และอำเภออื่น  จะได้เข้าไปใช้บริการเส้นทางบินได้อย่างทั่วถึง สะดวก ปลอดภัย  และอาจจะใช้เป็นศูนย์กลางการบินการค้าชายแดน การท่องเที่ยว เข้าไปสหภาพเมี้ยนมาร์  เนื่องจากคนมีเงิน นักลงทุน ไม่ต้องเสี่ยง และย่อมนึกถึงความสะดวก ปลอดภัยมากกว่า 
" สรุปว่า หลังโครงการปรับปรุงท่าอากาศยานตาก แล้วเสร็จสมบูรณ์ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า  จะสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ ทำให้จังหวัดตาก และพื้นที่ใกล้เคียงมีการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสามารถรองรับการพัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน
/////////
โดย... สบเกษม  แหงมงาม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น