วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ข่าวตาก - รายงานพิเศษ.....ประเด็นสำคัญโครงการพัฒนาพื้นที่อำเภอแม่สอดที่ต้องเร่งดำเนินการ




รายงานพิเศษ.....ประเด็นสำคัญโครงการพัฒนาพื้นที่อำเภอแม่สอดที่ต้องเร่งดำเนินการ

เพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด  

ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด”  และการนำเข้าสู่ประชาคมอาเซียน  AEC......ทีมข่าวการเมือง รายงาน

****************************************************

ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  ได้ลงพื้นที่อำเภอแม่สอด เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๖ และเป็นประธานการประชุม คณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๖ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ..... โดยให้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดเป็นแห่งแรกของประเทศไทย  และให้นครแม่สอดเป็นหนึ่งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จะมีการเสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ   ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ฯพณฯ จารุพงศ์  เรืองสุวรรณ เป็นผู้รับผิดชอบติดตามโครงการพัฒนาพื้นที่อำเภอแม่สอดที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด   ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด”  และการนำเข้าสู่ประชาคมอาเซียน AEC 

ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ฯพณฯ จารุพงศ์  เรืองสุวรรณได้เป็นประธานการประชุมในเรื่องติดตามโครงการพัฒนาพื้นที่อำเภอแม่สอดที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด   ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด”  ซึ่งมีนายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก-นายปรีชา ใจเพชร นายอำเภอแม่สอด- ดร.เทอดเกียรติ ชินสรนันท์ หรือ ดร.นายกฝอ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด จังหวัดตาก รวมทั้งภาครัฐ-เอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เป็นคณะทำงานร่วม ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมการนำเข้าสู่ประชาคมอาเซียน AEC  เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุมโรงแรมเซ็นทารา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก   และล่าสุด  ดร.ฝอ นายกนครแม่สอด ได้เดินทางเข้าพบกับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี  ยิง่ลักษณ์ ชินวัตร ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2556   โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

๑.       ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.........

ตามมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๖ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์  ได้มีมติ

เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ....  ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง  โดยให้รับความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไป

ข้อเสนอ:  เห็นควรพิจารณามอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย  เร่งประสานงานกับ

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อติดตามความคืบหน้าร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว

๒.     ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครแม่สอด พ.ศ. .....

ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะ๑)

โดยมีท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน   และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดยประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ  นายยงยุทธวิชัยดิษฐ  รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เตรียมผลักดันร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครแม่สอด พศ.….. เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี  สภาผู้แทนราษฎร  และวุฒิสภา  ซึ่งต้องรอให้นายกรัฐมนตรีลงนามประกาศใช้ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.... ก่อน   เนื่องจากตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๕ ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรับร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครแม่สอด พ.ศ. .....ไปพิจารณา โดยให้หารือร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกันกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.....  ก่อนเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

                “หากมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดแล้ว จำเป็นต้องมีองค์กรปกครอง

ส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ“นครแม่สอด”หรือไม่ จะเป็นการซ้ำซ้อนกันหรือไม่”

                                (๑) จากร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ... เมื่อกำหนดพื้นที่ใดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว มีความจำเป็นต้องมีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เนื่องจากการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนของประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียนและข้อตกลงการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียน ส่วนการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถจัดบริการสาธารณะที่มีคุณภาพแก่ประชาชน และรองรับการเจริญเติบโตของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งพัฒนาการบริหารจัดการของท้องถิ่นให้มีระบบที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส 

ดังนั้น การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

รูปแบบพิเศษ“นครแม่สอด”  จึงมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันและไม่เป็นการซ้ำซ้อนแต่อย่างใด

                                (๒) การเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะส่งผลดีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้

                                (๒.๑) เป็นการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจ มีการพัฒนาที่เร็วขึ้น โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน

                                (๒.๒) เพิ่มรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน ภาษีธุรกิจเฉพาะ

                                สำหรับการกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ควรกำหนดให้ครอบคลุมพื้นที่ดำเนินการ ตามแผนงาน/โครงการ ที่กำหนดไว้ในแผนแม่บท  และควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงานในการจัดตั้งเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในทุกขั้นตอน และเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ



                                (๓) จากหลักการของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ....เป็นการกระจายอำนาจในลักษณะการปกครองรูปแบบใหม่  โดยให้ส่วนกลางทำงานกับท้องถิ่นโดยตรงในทุกมิติ เช่นการปกครอง การจัดทำแผนแม่บท(แผนปฎิบัติการ) การมอบอำนาจ หน้าที่ การจัดสรรงบประมาณ ตลอดจนการออกกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องให้กับส่วนท้องถิ่น และส่วนภูมิภาคที่อยู่ในพื้นที่อำเภอแม่สอด(อำเภอพิเศษ) และทำงานร่วมกันกับท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด”

เพื่อให้เกิดความคล่องตัว รวดเร็ว มีเอกภาพ ตอบสนองความต้องการของประชาชน และนักลงทุน ในลักษณะ OSS (One Stop Service) จะเห็นได้ว่าหลักการบริหารจัดการแบบรัฐบาลสู่ท้องถิ่นโดยตรง ซึ่งมีอยู่หลายประเทศที่ประสานงานโดยตรงกับรัฐบาล เช่น จีน  ญี่ปุ่น  เกาหลี เป็นต้น ทำให้ประชาชนและประเทศชาติได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล  โดยเฉพาะความสนใจจากนักลงทุนจากต่างประเทศ และแนวคิดในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดจะเป็นตัวอย่าง(Model) ของประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมของพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ“นครแม่สอด” สู่ประชาคมอาเซียนและการค้าเสรีในปี ๒๕๕๘

(๔) ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ......

เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาพื้นที่ของตนเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่มีระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ บริการสาธารณะขั้นพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอันเนื่องจากการค้าบริเวณพรมแดน และการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียนได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักการการพัฒนายั่งยืน 

                (๕)ตามนโยบายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๖  ที่จังหวัดอุตรดิตถ์  ได้มีการประกาศจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และให้นครแม่สอดเป็นหนึ่งในเขตพัฒนเศรษฐกิจ

พิเศษที่จะมีการเสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดและนครแม่สอด จะต้องทำงานร่วมกันแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด

ข้อเสนอ:  ในห้วงระหว่างที่รอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนา

เศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ..... จะประกาศใช้   เห็นควรพิจารณามอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย  ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องในร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครแม่สอด พ.ศ..... เพื่อเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีลงนามนำเข้าวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีในโอกาสต่อไป



๓.      โครงการพัฒนาพื้นที่อำเภอแม่สอดที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อรองรับการจัดตั้งเขต

พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด   ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด”  และการนำเข้าสู่ประชาคมอาเซียน  ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี  นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  เมื่อครั้งลงพื้นที่ตรวจราชการแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๖  “ให้พัฒนาปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ควบคู่กับการพัฒนาสิ่งใหม่”

๓.๑โครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนาน (สะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่๑)งบประมาณ

๕๐๐ ล้านบาท(กรมทางหลวงรับผิดชอบ)

๓.๒ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ด่านพรมแดนแม่สอดงบประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท

(จังหวัดตาก และอำเภอแม่สอดรับผิดชอบ)

๓.๓โครงการก่อสร้างลานจอดรถและอาคารศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จบริเวณด่าน

พรมแดนแม่สอดงบประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท(จังหวัดตาก และอำเภอแม่สอดรับผิดชอบ)

ข้อเสนอ  :   จากการขยายตัวของการค้าขายชายแดนที่มีมูลค่าเกือบ ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท

และคาดว่าปี ๒๕๕๘เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมูลค่าการค้าขายชายแดนแม่สอด – เมียวดี จะมีมูลค่ามากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ในขณะที่สภาพสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่๑และด่านพรมแดนในปัจจุบัน ไม่สามารถรองรับความเจริญเติบโตและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนและนักธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศได้ ดังนั้นจึงเห็นควรพิจารณาเร่งดำเนินการปรับปรุงบริเวณด่านพรมแดนดังกล่าว งบประมาณ ๑,๗๐๐ ล้านบาท โดยเร็วต่อไป

สำหรับโครงการก่อสร้างดังกล่าว ได้มีการหารือบริษัทที่ปรึกษา IEC (International

Engineering Consultants Co.,Ltd.)  โดยใช้เงินเทศบาลนครแม่สอด ประมาณ ๑ ล้านบาท  ในการศึกษาออกแบบก่อสร้าง ประมาณ ๑ เดือน และใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างแล้วเสร็จ ประมาณ ๑ ปีครึ่ง

๓.๔ โครงการปรับปรุงขยายสนามบินแม่สอด (ตามมติ ครม. ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๗) 

งบประมาณ ๑,๓๕๘ ล้านบาท

                                                ท่าอากาศยานแม่สอด สร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เดิมเป็นสนามบินที่ใช้ในกิจการทหารอยู่ในความดูแลของกองทัพอากาศ ต่อมาในปี ๒๔๗๓ ได้เปิดให้บริการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศ

จนเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่น ได้เข้ามาใช้สนามบินเป็นฐานปฎิบัติการทางอากาศ  ซึ่งในขณะนั้นพื้นผิวเป็นดินลูกรัง ยาว ๑,๑๐๐ เมตร หลังสงคราโลกครั้งที่ ๒ สงบลง กองทัพอากาศเริ่มเปิดให้บริการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศอีกครั้ง  ต่อมาในปี ๒๕๑๓ ได้มีการก่อสร้างทางวิ่งขึ้นใหม่เป็นพื้นผิวลาดยาง

แอสฟัลต์ ยาว ๑.๕๐๐ เมตร และใช้มาถึงปัจจุบันกว่า ๔๓ ปี  ท่าอากาศยานแม่สอด ได้ประกาศเป็นสนามบิน

ศุลกากร เมื่อปี ๒๕๔๗ เครื่องบินพาณิชย์ต่างประเทศสามารถทำการบินได้ 

เนื่องจากปัจจุบันท่าอากาศยานแม่สอดตั้งอยู่ในอำเภอแม่สอด  จังหวัดตาก   เป็นสนามบิน

ชายแดนติดจังหวัดเมียวดี  ประเทศพม่า   มีอาคารผู้โดยสารขนาดเล็ก คับแคบ สามารถรองรับผู้โดยสารชั่วโมงคับคั่งได้เพียง ๘๐ คน  มีทางวิ่งรันเวย์ยาวเพียง ๑,๕๐๐ เมตร ไม่มีไหล่ทางวิ่ง ระบบไฟฟ้าสนามบินเป็นระบบเก่าใช้งานมานาน ขนาดของความยาวทางปัจจุบันสามารถรองรับเครื่องบินใหญ่ที่สุดคือ แบบ ATR ๗๒ ขนาด ๗๒ ที่นั่ง  เครื่องบินใหญ่กว่า ATR ๗๒ ไม่สามารถทำการขึ้น-ลงได้   ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๗ เห็นชอบในหลักการแนวทางการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด โดยมอบหมายให้กรมการบินพลเรือน ดำเนินโครงการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานแม่สอด จากความยาว ๑,๕๐๐ เมตร เป็น ๒,๑๐๐ เมตร พร้อมก่อสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพิ่มเติม   เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่กว่าปัจจุบันหรือเครื่องบิน Boeing –๗๓๗ขนาด ๑๕๐ ที่นั่ง

ข้อเสนอ:  การท่าอากาศยานแม่สอด เป็นผู้ให้บริการด้านการขนส่งทางอากาศของอำเภอแม่สอด

จังหวัดตาก  มีพรมแดนติดกับพม่า เปรียบเสมือนเป็นประตูทางอากาศ ที่รองรับโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ   จึงเห็นควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความต้องการใช้สนามบินในอนาคตอันใกล้นี้  โดยเฉพาะการรองรับความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การค้าขายชายแดน การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี ๒๕๕๘ ซึ่งจะมีการเดินทาง การค้าขายชายแดน การท่องเที่ยวระหว่างประเทศสมาชิกอย่างเสรี และเพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด – ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” และการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม SME  จึงจำเป็นอย่ายิ่งที่จะขยายท่าอากาศยานแม่สอด ซึ่งปัจจุบันมีขนาดเล็กและขาดการพัฒนาในทุกด้าน เพื่อให้สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ที่จะมาให้บริการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านต่อไป

๓.๕ การจัดทำแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่เทศบาลนครแม่สอด และพื้นที่ใกล้เคียง 

เหตุผลความจำเป็นที่เทศบาลนครแม่สอดต้องเป็นหน่วยงานจัดทำร่างแผนแม่บทเสนอ

คณะกรรมการนโยบายพิจารณาตามร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.....ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  ได้ลงพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๖ และเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดอุตรดิตถ์

เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๖ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .....  โดยให้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และให้นครแม่สอดเป็นหนึ่งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จะมีการเสนอผ่านคณะกรรมการนโยบาย

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ   เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมหากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขต



พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ... มีผลบังคับใช้ เทศบาลนครแม่สอดจึงต้องรีบดำเนินการให้มีแผนแม่บท

ด้วยเหตุผลและความจำเป็น ดังนี้

                                (๑) มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๗ เห็นชอบในหลักการให้สามอำเภอฝั่งตะวันตกของจังหวัดตาก ประกอบด้วยอำเภอแม่ระมาด อำเภอพบพระ และอำเภอแม่สอด จัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ดังนั้นการจัดทำแผนแม่บทก็ควรจะทำการศึกษาเฉพาะพื้นที่สามอำเภอตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเท่านั้น

                                (๒) ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ... มีหลักการและเหตุผลเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนของประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาคและข้อตกลงการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียน และสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีระบบที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสามารถให้บริการสาธารณะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตามความคาดหวัง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการค้าบริเวณพรมแดน และการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียน ทั้งนี้ ตามร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครแม่สอด พ.ศ... เป็นการจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา ๗๘(๓) บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะนโยบายด้านการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถพึ่งตนเองได้และตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นเองได้ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ประกอบกับ มาตรา ๒๘๙ วรรคเก้า ซึ่งบัญญัติให้จัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีโครงสร้างการบริหารที่แตกต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วไปได้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง จึงสมควรสนับสนุนให้พื้นที่ในส่วนของเทศบาลนครแม่สอดและเทศบาลท่าสายลวด จังหวัดตาก เป็นพื้นที่บริเวณพรมแดน ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นประตูเศรษฐกิจที่จะเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และสามารถพัฒนาให้เป็นฐานในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ได้จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เพื่อให้สามารถจัดบริการสาธารณะที่มีคุณภาพแก่ประชาชนและรองรับการเจริญเติบโตของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับ

นโยบายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๖  ที่จังหวัดอุตรดิตถ์  ได้มีการประกาศจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และให้นครแม่สอดเป็นหนึ่งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จะมีการเสนอผ่าน

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดและนครแม่สอด จะต้อง

ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เทศบาลนครแม่สอดจึงสมควรที่จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามคำจำกัดความในร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ... หน่วยงาน(ราชการส่วนกลาง,ราชการ,ส่วนภูมิภาค,ราชการส่วนท้องถิ่น,รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นผู้รับผิดชอบและกำกับดูแลเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง เป็นผู้จัดทำร่างแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้นๆ เพื่อให้การจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการ มีความรวดเร็วและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในชุมชนท้องถิ่นแต่ละแห่ง

(๓)  เทศบาลนครแม่สอดมีความประสงค์จะรับผิดชอบเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด  จึงได้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เทศบาลนครแม่สอดและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อรองรับการเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการนำเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ตามสัญญาจ้างเลขที่ ๑/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๕  โดยการแนะนำและเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเน้นการศึกษาเฉพาะพื้นที่การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ ที่เทศบาลนครแม่สอดจะสามารถดำเนินการได้ โดยพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามอำเภอตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น บริษัทที่ปรึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บท ยินดีที่จะศึกษาเพิ่มเติมให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพื่อให้การขับเคลื่อนการตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษดำเนินการต่อไปได้ตามคำแนะนำของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (รายละเอียดปรากฏตามสัญญาจ้าง)

ข้อเสนอ:  การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เทศบาลนครแม่สอด และพื้นที่ใกล้เคียง 

ซึ่งทางอำเภอแม่สอดและเทศบาลนครแม่สอด เป็นผู้รับผิดชอบ   โดยใช้งบประมาณเทศบาลนครแม่สอด๑๕ ล้านบาท  จ้างบริษัทที่ปรึกษากิจการร่วมค้า STA  จัดทำแผนแม่บทดังกล่าว  โดยมีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาเทศบาลนครแม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ๓ อำเภอชายแดน จังหวัดตาก ตามคำสั่งอำเภอแม่สอด ที่๕๘๐/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕  เป็นที่ปรึกษาให้ข้อเสนอแนะพร้อมทั้งแนวทางในการจัดทำแผนแม่บทดังกล่าว  ประกอบกับเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๖ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี  ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการแม่สอด จังหวัดตาก ให้นครแม่สอดประสานการจัดทำแผนแม่บทกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อวางแนวทางการศึกษาแผนแม่บทให้สอดคล้องกับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.....   โดยเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๖ ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ

และสังคมแห่งชาติ ได้เชิญบริษัทที่ปรึกษากิจการร่วมค้า STA  และเทศบาลนครแม่สอด ร่วมหารือเพื่อวางแนวทางการศึกษาแผนแม่บทดังกล่าวดังนั้นเพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี  ในการลงพื้นที่ตรวจราชการแม่สอด จังหวัดตาก และให้เกิดการบูรณาการในพื้นที่จึงเห็นควรพิจารณาให้ทางอำเภอแม่สอด และเทศบาลนครแม่สอด เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำแผนแม่บทโดยให้จังหวัดตากเป็นหน่วยงานที่คอยให้ข้อเสนอแนะและเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำแผนแม่บทดังกล่าว

๓.๖ เร่งรัดการใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ๓,๐๐๐ ไร่ (ข้างมหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร

แม่สอด) เพื่อตั้งศูนย์ราชการแห่งใหม่

เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานในพื้นที่แม่สอด มีพื้นที่ในการให้บริการไม่สอดคล้องกับ

สภาวการณ์ในปัจจุบันเช่น ด่านศุลกากรแม่สอด ไม่มีพื้นที่ตรวจสินค้า ถ่ายสินค้า ปัจจุบันต้องอาศัยพื้นที่บริเวณข้างถนนตรวจสินค้า ซึ่งดูแล้วไม่เหมาะสมและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และกีดขวางเส้นทางการจราจร

                                สำหรับสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชรแม่สอดในปัจจุบัน เคยเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และได้รับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่เช่นเดียวกัน

                                ข้อเสนอ:  จังหวัดตาก  ได้ตั้งคณะทำงานสำรวจพื้นที่จัดตั้งศูนย์ราชการในท้องที่อำเภอแม่สอด ตามคำสั่งจังหวัดตาก ที่ ๓๐๓๒/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๕   ซึ่งในขณะนี้คณะทำงานดังกล่าวยังไม่ได้มีการดำเนินการสำรวจพื้นที่แต่อย่างใด  ดังนั้น จึงเห็นควรโปรดพิจารณาเร่งรัดทางจังหวัดให้ดำเนินการสำรวจพื้นที่จัดตั้งศูนย์ราชการในท้องที่อำเภอแม่สอดต่อไป

////////////////////////////////////

ทีมข่าวการเมือง....รายงาน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น